วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิธีทำขนมไทย



ขนมหวานไทย : ขนมฝอยทอง

ขนมฝอยทอง



* ไข่เป็ด 5 ฟอง
* ไข่ไก่ 5 ฟอง
* น้ำตาลทราย 2 1/2 ถ้วยตวง
* น้ำลอยดอกมะลิ 1 1/2 ถ้วยตวง (หรือน้ำเปล่า)
* ไข่น้ำค้าง 2 ช้อนโต๊ะ(ไข่ขาวส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ที่ติดอยู่กับเปลือกด้านป้าน)
* น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
* กรวยทองเหลืองหรือกรวยใบตอง (สำหรับโรยไข่ในกระทะ)
* ไม้แหลม (สำหรับตักและพับฝอยทองในกระทะ)

ขนมหวานไทย : ขนมฝอยทอง

ขนมหวานไทย : ขนมฝอยทอง
http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_golden_threads_foy_thong_th.html

วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน

1. ต่อยไข่ไก่และไข่เป็ด เลือกเอาเฉพาะไข่แดง นำออกมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อรีดเอาเยื่อออก
2. ผสมไข่แดง, ไข่น้ำค้างและน้ำมันพืชเข้าด้วยกัน คนจนผสมกันทั่ว
3. นำน้ำลอยดอกมะลิผสมกับน้ำตาลในกระทะทองเหลืองและนำไปตั้งไฟร้อนปานกลาง รอจนเดือด
4. นำส่วนผสมไข่แดงใส่ลงไปในกรวยและนำไปโรยในน้ำเชื่อมที่เดือด ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาทีจนไข่สุกจึงใช้ไม้แหลม สอยขึ้นและพับให้เป็นแพตามต้องการ
5. จัดใส่จาน เสริฟเป็นของว่างทางเล่นในวันสบายๆ


ขนมหวานไทย : ขนมชั้นใบเตย

ขนมชั้น



* แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วยตวง
* แป้งท้าวยายม่อม 2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลทราย 5 ถ้วยตวง
* น้ำลอยดอกมะลิ 2 ถ้วยตวง
* กะทิ 6 ถ้วยตวง
* น้ำดอกอัญชัญ 2 ช้อนโต๊ะ  (หรือน้ำใบเตยคั้นสด,
   หรือใช้สีผสมอาหารตามแต่สีที่ต้องการ)

ขนมหวานไทย : ขนมชั้นใบเตย
ขนมหวานไทย : ขนมชั้นใบเตย


วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน
1. นำดอกอัญชันล้างน้ำให้สะอาด นำไปปั่นใส่น้ำแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อเตรียมน้ำดอกอัญชัญ กรณีต้องการทำสีเขียวจากใบเตย ก็นำเอาใบเตยไปล้างให้สะอาดและนำไปปั่นใส่น้ำและกรองด้วยผ้าขาวบาง กรณีต้องการสีอื่น อาจใช้สีผสมอาหารแทน
2. นำน้ำลอยดอกมะลิไปตั้งบนไฟอ่อนๆ ผสมน้ำตาลทรายลงไป คนจนละลายดีเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น
3. นำแป้งทั้งสองชนิด ผสมกับกะทิ นวดให้เหนียว จากนั้นใส่น้ำลอยดอกมะลิที่ผสมน้ำตาลแล้ว (ขั้นตอนที่ 2) ลงไปผสมให้เข้ากัน
4. แบ่งแป้งที่ผสมแล้วออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแบ่งไว้ทำสีขาว และส่วนที่สอง ไว้ทำสีม่วงโดยเติมน้ำดอกอัญชัน (น้ำใบเตยหรือสีผสมอาหาร)ลงไปคนให้เข้ากัน
5. นำถาดที่ต้องการ (หรือแบบพิมพ์ที่เตรียมไว้) ใส่บนลังถึงตั้งบนไฟแรง ๆ พอน้ำเดือดเปิดฝา ตักแป้งสีขาวเทใส่ลงในถาดเกลี่ยให้ทั่วถาดบางที่สุด ปิดฝาเพื่อให้สุกประมาณ 5 นาที เปิดดูแป้งจะมีลักษณะใส จากนั้นตักแป้งสีม่วง (หรือสีที่ผสมลงไป) ใส่ลงไป อีก ทำสลับกันจนแป้งหมด (เคล็ดลับ : ควรใช้ภาชนะที่มีความจุเท่ากันในการตวงแป้งเทแต่ละชั้น เพื่อที่จะได้แป้งที่มีความหนาเท่า ๆ กัน)
6. นึ่งจนขนมสุกทั้งหมด แล้วยกลงทิ้งไว้ให้เย็นประมาณ 2 ชั่วโมงจึงตัดเป็นชิ้นเพื่อเสริฟ (เคล็ดลับ : ก่อนที่จะเทแป้งเพื่อทำชั้นต่อไปทุกครั้ง จะต้องแน่ใจว่าขนมในชั้นล่างนั้นสุกแล้วจริง ๆ ไม่เช่นนั้น แป้งชั้นนั้นจะไม่สุกเลย ถึงแม้จะใช้เวลานึ่งนานเท่าใดก็ตาม)


ขนมลูกชุบ


ขนมหวานไทย : ลูกชุบ
* ถั่วเขียว 450 กรัม
* น้ำตาลทราย 200 กรัม (สำหรับผสมถั่ว)
* น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ (สำหรับทำน้ำวุ้น)
* น้ำกะทิ 400 กรัม
* วุ้นผง 3 ช้อนโต๊ะ
* น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง (สำหรับทำน้ำวุ้น)
* สีผสมอาหาร
   (อย่างน้อยแม่สี 3 สี : สีแดง, สีเหลืองและน้ำเงิน),
   จานสีและพู่กัน
* ไม้จิ้มฟัน
   (สำหรับเสียบถั่วที่ปั้นแล้วเพื่อแต่งสีและจิ้มลงในน้ำวุ้น)
* โฟม
  (สำหรับเสียบถั่วปั้นระหว่างทำ ถ้าวางบนพื้นจะเสียทรง)
ขนมหวานไทย : ลูกชุบ
ขนมหวานไทย : ลูกชุบ (Green Peanut in Jelly)



วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน
1. นำถั่วเขียวเลาะเปลือกมาทำความสะอาด และแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปนึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที)
2. เมื่อถั่วเขียวสุกดีแล้ว ให้นำไปใส่ในเครื่องปั่นไฟฟ้า พร้อมกับน้ำตาลทรายและน้ำกะทิ ปั่นจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี
3. จากนั้นจึงเทส่วนผสมลงในกระทะทองเหลือง (หรือกระทะเคลือบเทฟลอนก็ได้)และตั้งบนไฟอ่อนๆ ค่อยๆกวนจนข้นและเหนียว (ใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที) จึงปิดไฟ และทิ้งไว้ให้เย็น (ถั่วต้องแห้ง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถนำไปปั้นได้)
4. ก่อนปั้นให้นวดส่วนผสมทั้งหมดอีกครั้งจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จากนั้นจึงปั้นให้เป็นรูปทรงตามใจชอบ (ผัก, ผลไม้หรือสัตว์น่ารักๆ) เมื่อปั้นเสร็จให้เสียบไม้จิ้มฟันรอไว้ ควรปั้นส่วนผสมทั้งหมดให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ถั่วที่ปั้นเสร็จแล้วควรห่อไว้ด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำหมาดๆ
5. ผสมสีผสมอาหารตามต้องการ แล้วจึงบรรจงแต่งสีลงบนถั่วปั้นให้เหมือนจริง หรือตามแต่ความชอบ
6. ทำน้ำวุ้นโดยผสมน้ำเปล่า, ผงวุ้นและน้ำตาล ลงในหม้อ นำไปตั้งบนไฟร้อนปานกลาง หมั่นคนอย่างสม่ำเสมอ รอจนส่วนผสมเดือด ช้อนฟองที่ลอยหน้าออก จึงหรี่ไฟลง
7. นำถั่วปั้นที่แต่งสีแล้วไปชุบในน้ำวุ้น ควรชุบประมาณ 2 - 3 ครั้ง ระหว่างชุบวุ้นต้องอุ่นน้ำวุ้นด้วยไฟอ่อนเพื่อไม่ให้วุ้นแข็ง ถ้าไม่พอก็ผสมน้ำวุ้นขึ้นใหม่ตามอัตราส่วนข้างต้น
8. นำลูกชุบออกจากไม้ิจิ้มฟัน ตัดแต่งเศษวุ้นส่วนเกินออกด้วยกรรไกร จัดใส่จาน เสริฟเป็นของว่างในวันสบายๆได้ทันที



ขนมบัวลอย


+ส่วนผสมบัวลอย+
* แป้งข้าวเหนียว 2 ถ้วยตวง
* เผือกนึ่งสุกบดละเอียด 1 ถ้วยตวง (กรณีต้องการบัวลอยหลายสีสามารถเลือกใช้ฟักทอง เพื่อทำบัวลอยสีเหลือง, ใบเตย เพื่อทำบัวลอยสีเขียว, อื่นๆ)
* น้ำเปล่า 1/4 ถ้วยตวง
+ส่วนผสมน้ำกะทิ+
* กะทิ 2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลมะพร้าว 100 กรัม
* น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
* เกลือป่น 1 ช้อนชา
* เนื้อมะพร้าวอ่อน, ไข่ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)
* งาขาว (สำหรับแต่งหน้า จะมีหรือไม่มีก็ได้)

ขนมหวานไทย : บัวลอยไข่หวาน
ขนมหวานไทย : บัวลอยมะพร้าวอ่อน
http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_dumplings_in_coconut_cream_th.html
 วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน
1. ทำบัวลอยโดยผสมแป้งข้าวเหนียว, เผือกนึ่งและน้ำเปล่าเข้าด้วยกัน นวดจนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จากนั้นจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ระหว่างปั้นนั้น ควรโรยด้วยเศษแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกบัวลอยติดกัน (ถ้าต้องการทำบัวลอยหลายสีก็ใช้ส่วนผสมเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นฟักทองสำหรับสีเหลือง หรือใบเตยสำหรับสีเขียว เป็นต้น)
2. ต้มน้ำในหม้อขนาดกลาง รอจนเดือดจึงใส่ลูกบัวลอยที่ปั้นไว้แล้ว เมื่อบัวลอยสุกให้นำออกมาแช่ในน้ำเย็น (บัวลอยที่สุกแล้วจะลอยขึ้น)
3. ทำน้ำกะทิโดยผสม กะทิ, น้ำตาลมะพร้าว, น้ำตาลทรายและเกลือป่นลงไป ควรใส่น้ำตาลทรายแค่ครึ่งเดียวก่อน ถ้ายังหวานไม่พอจึงค่อยใส่เพิ่มลงไป ต้มจนเดือด จึงหรี่ไฟลง นำบัวลอยที่ต้มไว้แล้วใส่ลงไปในน้ำกะทิ ต้มต่ออีกสักพักจึงปิดไฟ ถ้ามีมะพร้าวอ่อนก็ใส่ได้เลย พร้อมลูกบัวลอย (กรณีต้องการทำบัวลอยไข่หวาน ก็ตอกไข่ใส่ไปในหม้อหลังจากที่ใส่บัวลอยลงไป รอจนไข่สุกจึงปิดไฟ)
4. ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยงาขาว เสริฟขณะร้อนหรือรอให้เย็นก็ได้




ขนมหวานไทย : ขนมน้ำดอกไม้

ขนมน้ำดอกไม้



* แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
* แป้งเท้ายายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
* น้ำลอยดอกมะลิ 2 1/2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
* สีผสมอาหาร (ตามความชอบ)


ขนมหวานไทย : ขนมน้ำดอกไม้
ขนมหวานไทย : ขนมน้ำดอกไม้
http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_dessert_kanom_nam_dok_mai_th.html
วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน
1. ผสมแป้งข้าวเจ้าและแป้งเท้ายายม่อม จากนั้นนำไปร่อนและพักทิ้งไว้
2. นำน้ำลอยดอกมะลิและน้ำตาลทรายไปตั้งในหม้อบนไฟอ่อนๆ คนจนผสมกันทั่วและน้ำตาลละลายดีจึงปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น
3. นำน้ำเชื่อมและแป้งผสมกันทีละน้อย คนจนส่วนผสมเข้ากันดี จึงใส่สีผสมอาหารลงไป ควรผสมให้เป็นสีโทนอ่อนจะน่าร้บประทานมากกว่าสีเข้ม 
4. นำแบบพิมพ์ที่ต้องการไปนึ่งให้ร้อนประมาณ 10 นาที จากนั้นจึงหยอดน้ำแป้งลงในแบบพิมพ์ที่ต้องการ แล้วนำไปนึ่งประมาณ 15
นาทีจนสุก ทิ้งไว้ให้เย็น แคะออกจากแบบ จัดใส่จานเสริฟ

แหล่งอ้างอิง: กระยาทิพย์ เรือนใจ.ปั้นแต่งขนมไทย.ต้นมธรรม สำนักพิมพ์.2537


ขนมไทยกับวันสำคัญ




ขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรส



      ถ้าเป็นงานมงคลสมรสมักจะทำขนมหวานให้ครบ 9 สิ่งขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรสตามประเพณีทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้จัด และขนมที่นิยมจัด คือ
1. ฝอยทองหรือทองหยิบ
2. ขนมชั้น
3. ขนมถ้วยฟู
4. ขนมทองเอก
5. ขนมหม้อแกง
6. พุทราจีนเชื่อม
7. ข้าวเหนียวแก้ว หรือวุ้นหน้าสีต่าง ๆ
8. ขนมดอกลำดวน
9. ผลไม้ต่าง ๆ ลอยแก้ว
แต่ตามความเชื่อบางอย่างของคนไทย ขนมที่มีลักษณะเป็นเส้น มักจะใช้สำหรับงานทำบุญอายุ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุยืนยาว แต่กลับไม่ใช้จัดในงานศพ เพราะเชื่อว่าจะ มีการตายต่อเนื่องไม่เป็นมงคล ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นเหตุผลของแต่ละบุคคลมิได้เป็นข้อห้ามเสียทีเดียว

ขนมไทยที่ใช้ในพิธีการตั้งศาลพระภูมิ


    ขนมที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยพระภูมิ คือ
1. ขนมต้มแดง
2. ขนมต้มขาว
3. ขนมเล็บมือนาง (ขนมคันหลาว)
4. ขนมดอกจอก หรือขนมทองหยิบ
5. ขนมถั่วแปบ (ขนมหูช้าง)
6. ขนมข้าวเหนียวแดง
7. ขนมประเภทบวดต่าง ๆ



ขนมที่ใช้ในงานเทศกาลต่างๆ



ประเพณีสงกรานต์ งานตรุษสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คนไทยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ขนมที่ใช้ทำได้แก่
1. กาละแม
2. ข้าวเหนียวแดง
วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นวันที่พระสงฆ์ต้องอยู่จำวัด ไม่ออกไปค้างแรมที่อื่นเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะเป็นฤดูฝน ขนมที่นิยมทำ ได้แก่
1. ข้าวต้มผัด
2. แกงบวดต่าง ๆ ได้แก่ แกงบวดฟักทอง แกงบวดมันสำปะหลัง
วันสารทไทย วันสารทไทยตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ขนมที่ใช้ทำกัน ได้แก่ ขยาสารท



                               ขนมไทย มีมากมายหลายชนิด ทั้งที่เป็นขนมไทยแบบโบราณ และขนมที่รับมาจากต่างประเทศจนกลืนเป็น ขนมของไทย ด้วยความช่างประดิดประดอย คิดค้นและวิวัฒนาการของคนไทย ทำให้ ขนมไทย โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีคุณค่าในตัวเอง ปัจจุบันคนไทยหันมานิยมใช้ ขนมไทย เป็นของขวัญของฝากในนานาเทศกาลไม่ว่าจะเป็น วันขึ้นปีใหม่ไทยหรือสากล วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่ วันเกษียณอายุราชการ ฯลฯ ขนมไทยกับความหมายให้เลือกใช้ตามเทศกาล
-  ขนมชั้น - ความเจริญก้าวหน้าในขั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนชั้น
-  ขนมจ่ามงกุฎ - ความเจริญก้าวหน้า เป็นหัวหน้า เลื่อนยศ
-  ขนมถ้วยฟู - ความเจริญฟูเฟื่อง รุ่งเรือง
-  ขนมตาล - ความหวานชื่น ราบรื่นของชีวิต
-  ขนมทองเอก - ความเป็นหนึ่ง
-  ขนมลูกชุบ - ความน่ารักน่าเอ็นดู มักใช้กับผู้ใหญ่ให้กับผู้น้อย
-  ข้าวเหนียวแก้ว - ความดีประเสริฐ ดุจดังแก้ว
-  ขนมเสน่ห์จันทร์ - ความมีเสน่ห์ดุจจันทร์วันเพ็ญ ฯลฯ
         ที่สำคัญหากเป็นขนมที่ทำขึ้นเอง รสอร่อย สวยงาม ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจจริงของผู้ให้ พร้อมบัตรคำอวยพรที่มีความหมายคล้องจองกับขนมที่ให้จะประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ


ภาพ:Kanom-fetival.jpg




ขนมไทยกับวิถีชีวิต

              ขนมไทย หัตถกรรมความอร่อยที่แสดงออกถึงความอ่อนช้อยของความเป็นไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่ก่อกำเนิดภูมิปัญญาไทยหลากหลายอย่างให้สืบสานต่อทั้งวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรม ที่สามารถนำวัสดุมีอยู่ในท้องถิ่นมาปรุงแต่งเป็นของหวานได้มากหลายรูปแบบ จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยมีลักษณะนิสัยอย่างไร เพราะขนมแต่ละชนิดล้วน มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อน ประณีต วิจิตรบรรจงในรูปลักษณ์ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ วิธีการทำที่กลมกลืน ความพิถีพิถัน สีที่ให้ความสวยงาม มีกลิ่นหอม รสชาติของขนมที่ละเมียดละไมชวนให้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนใจเย็น รักสงบ มีฝีมือเชิงศิลปะ
         วิถีชีวิตของคนไทยนั้นเป็นสังคมเกษตรที่มีผลิตผลทางธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น กล้วย อ้อย มะม่วง รวมไปถึงข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ฯลฯ ที่สามารถปรุงเป็น ขนม ได้มากมายหลายชนิด เช่น อยากได้ กะทิ ก็เก็บมะพร้าวมาขูดคั้นน้ำกะทิ อยากได้ แป้งก็นำข้าวมาโม่เป็นแป้งทำขนมอร่อยๆ เช่น บัวลอย กินกันเองในครอบครัว
         ขนมไทยถูกนำไปใช้ในงานบุญตามประเพณีและงานพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวไทย โดยนิยมทำขนมชื่อมีมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย เพราะคนไทยถือว่า ทองเป็น ของดีมีมงคลทำแล้วได้มีบุญกุศล มีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนม


        
              ขนมไทยผูกพันแน่นแฟ้นกับวิถีชีวิตคนไทยมานาน และทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบันขนมไทยเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการดำรงชีวิตของคนไทย แม้การขายขนมจะไม่มีการทำอย่างแพร่หลายในสมัยก่อน คนไทยก็รู้จักที่จะทำขนมกินกันเอง เนื่องจากวิถีชีวิตคนไทยนั้นเป็นสังคมเกษตร สังคมชนบทที่มีผลิตผลทางธรรมชาติอยู่มากมาย อาทิ มะพร้าว ตาล ที่ปลูกอยู่ในผืนดินของตนเอง ผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น กล้วย อ้อย มะม่วง รวมไปถึงข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวเม่า ข้าวตอก ฯลฯ ถ้าอยากได้กะทิก็ไปเก็บมะพร้าวมาขูดแล้วครั้นเอาน้ำ ถ้าอยากได้แป้ง ข้าวก็มีพร้อมเพราะปลูกเอง โม่หรือหินโม่แป้งก็มีอยู่ทุกบ้าน เอามาโม่เข้าไม่นานก็จะได้แป้งสำหรับทำขนมอร่อย ๆ กินกันเองในครอบครัว ถ้าทำจำนวนมากก็นำไปแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้ลิ้มรสด้วยก็ยังไหว
........    
ขนมครกกับขนมกล้วยดูจะเป็นขนมยอดนิยมที่สุด เพราะส่วนผสมหรือเครื่องปรุงนั้นหาง่าย ตลอดจนกรรมวิธีในการทำก็ง่ายแสนง่ายทั้งเตาขนมครกก็มีขายมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ส่วนกล้วยและมะพร้าวก็มีกินกันอย่างเหลือเฟือหากไม่นำมาทำขนมกินก็ต้องเหลือทิ้งไปเปล่า ๆ    ขนมน้ำเป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมทำกินกัน ที่ทำง่ายและนิยมกินที่สุดเห็นจะได้แก่ขนมพวกแกงบวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟักทองบวด มันบวด กล้วยบวดชี ถัดจากขนมน้ำก็ยังมีการถนอมอาหารเก็บไว้กินนาน ๆ ประเภทขนมเชื่อมและขนมกวนรวมไปถึงผลไม้ดองและผลไม้แช่อิ่มอีกด้วย
..........     ภายหลังเมื่อมีตลาดก็มีขนมหลายชนิดขาย วิธีการนำมาขายก็มีตั้งแต่วางขายอยู่กับที่ กระเดียดกระจาด แบกกระบุง และหาบสาแหรกเร่ขาย คนไทยก็มีทางเลือกมากขึ้นเพราะมีขนมให้กินหลายชนิดขึ้น พ่อค้าแม่ขายต่างพัฒนาฝีมือการปรุงรสชาติขนมของตนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น
..........    ตลาดขนมไทยที่ขึ้นชื่อลือชานั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน เริ่มแรกนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่เจ้าในแต่ละแห่ง แต่ต่อมาก็เพิ่มขึ้น ๆ จนกลายเป็นย่านขนมหวายไปเลย ซึ่งย่านค้าขายขนมไทยที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็ได้แก่ขนมไทยเมืองเพชรบุรี หมู่บ้านขนมไทยจังหวัดนนทบุรี ตลาดหนองมนของจังหวัดชลบุรี ฯลฯ นอกจากนี้ตามตลาดทุกแห่งทั่วประเทศก็มีขนมไทยวางขายและเร่ขายกันดาษดื่น
 ..........   คนไทยที่กินขนมไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นคนในสังคมชนบท แต่ใช่ว่าคนเมืองจะไม่กินเอาเสียเลย เพราะนอกจากขนมฝรั่งอย่าง โดนัท เค้ก คุกกี้ พุดดิ้ง วาฟเฟิล คัสตาร์ด พาย ฯลฯ แล้ว ขนมไทย ๆ อย่าง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ขนมเบื้อง ขนมน้ำดอกไม้ ทองม้วน ก็ยังติดอันดับขนมยอดฮิตที่มีคนนิยมกินกันมากเช่นกัน

*** เกร็ดความรู้*** ความหมายของคำที่ใช้ในการประกอบขนมไทย

การประกอบขนมหวานไทย มีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้น ๆ ว่าจะประกอบด้วยวิธีการแบบใดให้ขนมสำเร็จออกมาแล้วน่ารับประทาน ตัวอย่างวิธีการประกอบขนมหวานไทย คือ
     1. ต้ม  หมายถึง การนำอาหารใส่หม้อ พร้อมกับน้ำหรือกะทิ ตั้งไฟให้เดือดจนสุกตามความต้องการ การทำขนมที่ต้องต้ม และเป็นขนมที่ใช้ใบตองห่อ ต้องห่อให้สนิท ใบตองต้องไม่แตก เช่น ข้าวต้ม น้ำวุ้น แกงบวด ถั่วเขียวน้ำตาล ฯลฯ
     2. หุง  หมายถึง การทำอาหารที่ให้สุก   โดยนำของที่ต้องการหุงใส่ลงในหม้อพร้อมกับน้ำ  ตั้งไฟจนน้ำแห้ง จึงลดไฟให้อ่อนลง แล้วดงให้แห้งสนิท
      3. นึ่ง  หมายถึง การทำอาหารให้สุก โดยใช้ไอน้ำ โดยใส่ขนมลงในลังถึง ปิดฝาตั้งไฟให้น้ำเดือดนึ่งจนขนมสุก ส่วนมากจะเป็นขนมที่มีไข่ เป็นส่วนผสม เช่น ขนมสาลี ขนมทราย ขนมชั้น ขนมสอดไส้ ฯลฯ การใช้เวลานึ่งและความร้อนต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้น ๆ
     4. ทอด  หมายถึง การทำอาหารให้สุกด้วยน้ำมัน โดยใส่น้ำมันลงในกระทะ ตั้งไฟให้ร้อนทั่วแล้ว จึงจะใส่ขนมที่จะทอดลงไป ขนมบางชนิดใช้น้ำมันมาก เรียกว่า ทอดน้ำมันลอย  ใช้ไฟปานกลางสม่ำเสมอ บางชนิดใช้น้ำมันน้อย ใช้กระทะก้นตื้น ดังนั้นการทอดจึงใช้กระทะตามลักษณะของขนมแต่ละชนิด การทอดถ้าใช้ไฟอ่อนมาก ขนมจะอมน้ำมัน จึงควรจะระมัดระวังด้วย ขนมที่ทอด เช่น ขนมฝักบัว ขนมทองพลุ ข้าวเม่าทอด ฯลฯ
     5. จี่  คือ การทำขนมให้สุกในกระทะโดยใช้น้ำมันแต่น้อย ใช้น้ำมันทากระทะพอลื่น กระทะที่ใช้จะเป็นกระทะเหล็กหล่อแบน กว้าง เนื้อเหล็กหนา การจี่ใช้ไฟอ่อน ตั้งกระทะให้ความร้อนรุมอยู่ตลอดเวลา และกลับขนมให้เหลืองเสมอกันทั้งสองด้าน เช่น ขนมแป้งจี่
     6. เจียว  คือ การทำให้เครื่องปรุงเหลืองกรอบโดยน้ำมัน เช่น หอมเจียว การเจียวหอมเพื่อโรยหน้าขนม หัวหอมควรซอยให้ชิ้นเสมอกัน เวลาเจียวจะสุกพร้อมกัน มีสีเหลืองสวย น้ำมันที่เจียวไม่ควรมากเกินไป    กะพอใส่ของลงไปแล้วพอดี   ใช้ตะหลิวกลับไปกลับมาจนกรอบเหลืองทั่วกัน จะมีน้ำมันเหลือติดก้นกระทะเล็กน้อย ใช้เป็นส่วนผสมของขนมได้
     7. ปิ้ง  หมายถึง การทำอาหารให้สุก โดยการวางขนมที่ต้องการปิ้งไว้เหนือไฟ มีตะแกรงรองรับไฟไม่ต้องแรงนัก กลับไปกลับมาจนขนมสุก อาหารบางชนิดใช้ใบตองห่อ แล้วปิ้งจนใบตองที่ห่อเกรียบหรือกรอบ เช่น ขนมจาก ข้าวเหนียวปิ้ง ก่อนที่จะปิ้งใช้ขี้เถ้ากลบไว้เพื่อให้ไฟร้อนสม่ำเสมอกัน
    8. ผิงและอบ ขนมที่ใช้ผิงมีหลายชนิด จะใช้ผิงด้วยไฟบน และไฟล่าง ไฟจะต้องมีลักษณะอ่อนเสมอกัน ปัจจุบันใช้เตาอบแทนการผิง เช่น ขนมหม้อแกง ขนมสาลี่กรอบ ขนมผิง ฯลฯ
    9. กวน  เริ่มต้นกวนตั้งแต่ขนม ยังเป็นของเหลว ในขณะที่ขนมยังเหลว ส่วนที่ควรระมัดระวังเวลากวน คือก้นกระทะต้องหมั่นใช้ไม้พายขูดกลับไปกลับมา เพื่อไม่ให้ส่วนผสมติดก้นกระทะ ระยะขนมรวมตัวกันแล้ว ให้คนไปทางเดียวกัน ต้องคอยระวังก้นกระทะ ขนมจะไหม้หากกวนไม่ทั่ว ไม่ควรปล่อยให้ขนมจับปากกระทะ หมั่นขูดอยู่เสมอ พายที่ใช้ควรมีขนาดพอเหมาะ กับส่วนผสมในกระทะ และความถนัดในการใช้ เช่น ถั่วกวน เผือกกวน กล้วยกวน
    10. คลุก  คือ การผสมของตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ให้เข้ากัน  เช่น ข้าวเม่าคลุก การคลุกควรใช้ช้อนส้อม พายไม้ คลุกเบาๆ พอให้ขนมรวมกัน และมีรสเสมอกัน
    11. ตีไข่  คือ การทำไข่ให้ขึ้น มีหลายขนาด การตีไข่ให้ได้ผล ควรตีให้มีจังหวะสม่ำเสมอ ไม่หยุดมือจนกว่าไข่จะขึ้นฟู และอยู่ตัวตามต้องการ ถ้าตีแล้วหยุดบ่อย ๆ จะทำให้ไข่เสียได้
    12. คน  หมายถึง การคนขนมที่ประกอบด้วยเครื่องปรุงที่เป็นแป้ง ส่วนผสมชนิดอื่น ๆ จะกวนหรือนึ่ง ควรได้มีการคนเสียก่อน เพื่อให้แป้งรวมตัวกับส่วนผสมอื่น แล้วจึงตักใส่ภาชนะนึ่ง หรือใส่กระทะกวน
    13. คั่ว  หมายถึง การทำให้สุก โดยใช้อาหารลงในกระทะ  แล้วใช้ตะหลิวเขี่ยวัตถุนั้น ๆ ให้กลับไปกลับมา เช่น คั่วงา ไฟที่ใช้ในการคั่ว ไม่ควรใช้ไฟแรง จะทำให้อาหารไหม้
    14. แซะ  คือ  การทำให้วัตถุที่ติดอยู่กับภาชนะหลุดออกจากภาชนะ โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะปากแบน ปลายคม เช่น แซะขนมเบื้อง ค่อย ๆ แซะแผ่นแป้งให้หลุดจากกระทะ โดยแซะไปรอบ ๆ ขนม
    15. ละเลง  คือ การกระจายของเหลวให้แผ่ออกเป็นวงกว้าง เช่น ละเลงขนมเบื้อง โดยจะใช้กระจ่าที่ทำด้วยกะลามะพร้าวแบน ๆ มีด้ามถือ ตักแป้งที่มีลักษณะเหลว หยดลงในกระทะ ใช้กระจ่าวางลงตรงกลางแป้ง ใช้มือกดให้วนไปโดยรอบ จนแป้งจับกระทะเป็นแผ่น
ตามต้องการ
    16. ยี  คือ การทำให้วัตถุที่จับเป็นก้อนก่อนกระจายออกจากกัน เช่น การยีแป้งขนมขี้หนู หลังจากการใส่น้ำเชื่อม  จนแป้งระอุ และอิ่มน้ำเชื่อมแล้ว ต้องทำขนมให้ฟู โดยการยีเบา ๆ มือ ให้แป้งกระจายออกจากกัน จนเนื้อละเอียด
    17. ร่อน  คือ การแยกวัตถุที่มีเนื้อหยาบ ออกจากส่วนละเอียดหรือเกี่ยวกับการทำขนมเช่น ขนมละอองลำเจียก ใช้แป้งข้าวเหนียวที่นวดกับหัวกะทิหมาด ๆ ใส่แร่งร่อนในกระทะให้จับเป็นแผ่น บรรจุไส้ม้วนให้สวย


แหล่งอ้างอิง: 
http://www.tipfood.com/Thaifood/Thaifood_topic1.html http://www.mae-ja.net/article?id=13561&lang=th http://www.sf.ac.th/student/kanom/page13.htm http://www.geocities.com/bourbonstreet/delta/7219/whatsnew.htm http://www.geocities.com/bourbonstreet/delta/7219/Desserts/index01.htm

ขนมไทยแต่ละประเภท

ขนมไทยประเภทนึ่ง
             หลักการคือการใช้ความร้อนจากไอน้ำในลังถึงส่งผ่านขึ้นมาเพื่อทำให้ขนมสุก ไม่ควรใส่น้ำจนเต็มหรือน้อยเกินไป น้ำที่กำลังดีคือ3/4ของลัง การใช้ไฟของขนมชนิดนึ่งต้องคำนึงถึงลักษณะของขนมด้วย เช่นถ้าเป็นขนมที่มีลักษณะเนื้อเหนียวและเป็นชิ้นก้อควรต้องใช้ไฟที่แรง เช่น ขนมฝักทอง  ขนมชั้นและขนมใส่ไส้ เป็นต้น ส่วนขนมที่ต้องการให้เนื้อขนมมีลักษณะฟู ก้อควรที่จะเบาไฟมาที่ปานกลาง เช่น ขนมปุยฝ้ายและขนมสาลี่


ขนมไทยประเภทกวน
              เป็นขนมไทยที่ต้องใช้ความพิถีพิถันและใช้อุปกรณ์เฉพาะในการประกอบขนมได้แก่ พายไม้ กระทะทองและเตาสำหรับหุงที่มีขนาดที่เหมาะสม เทคนิคสำคัญของขนมประเภทนี้อยู่ที่การกวน คือจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลาจนกว่าขนมจะได้ที่ และควรใช้กระทะทองเพราะจะทำให้ง่ายต่อการกวนและที่สำคัญยังคงสีของขนมไว้ไม่ให้เปลี่ยน เทคนิคที่สำคัญอีกอย่างนึงคือผู้กวนควรกวนขนมไปในทิศทางเดียว ควรใช้ไฟปานกลางและพอขนมเริ่มข้นก้อให้ลดไฟลงมาเพื่อไม่ให้ขนมเกาะต้วแข็งเป็นก้อนดูไม่น่ารับประทาน ตัวอย่างของขนมที่ใช้การกวนได้แก่  ขนมเปียกอ่อน  ตะโก้   ซ่าหริ่ม และเผือกกวน

  

ขนมไทยประเภทไข่
              เป็นขนมที่ได้รับความนิยมกันมากเพราะขนมมีรูปลักษณ์สวยงามใช้ฝีมือและความประณีตในการทำเป็นขนมที่ขาดไม่ได้สำหรับงานมงคลต่างๆ เทคนิคที่สำคัญคือการเลือกไข่ซี่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำควรเลือกไข่ที่ใหม่เพราะขนมประเภทนี้ใช้ความข้นของไข่ในการคงรูปของขนมและยังคงความอ่อนนุ่ม ขนมไทยประเภทไข่ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และ  เม็ดขนุน



ขนมประเภทข้าวเหนียวและวุ้น
              การทำขนมประเภทที่ต้องใช้ข้าวเหนียวนั้นควรเลือกข้าวเหนียวที่สะอาดมีลักษณะของเมล็ดที่รียาว ควรล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาแช่ไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงหรือถ้าจะให้ดีก้อทิ้งไว้ค้างคืนก้อได้ หลังจากนั้นนำมานึ่งให้สุกแล้วนำไปมูนเป็น ข้าวเหนียวแดง หรือ  ข้าวเหนียวแก้ว  เป็นต้น ในส่วนของวุ้นนั้นในปัจจุบันสะดวดเพราะมีผงวุ้นขายตามท้องตลาด ซึ่งบรรจุอยู่ในซอง วิธีการสำคัญที่จะทำให้วุ้นดูใสนั้นต้องดูวุ้นที่เคี่ยวกับน้ำนั้นละลายแล้วจึงใส่น้ำตาลตามลงไป ขนาประเภทวุ้นที่เป็นที่นิยมทำกัน เช่น  วุ้นสังขยา และ  วุ้นกะทิ








ขนมไทยประเภทโบราณ
              เป็นขนมที่มีใช้ในงานบุญพิธีบวงสรวงและงานมงคลต่างๆ เพราะชื่อของขนมปะเภทนี้นั้นมีความหมายที่ดี เช่น ทองเอกและ  เสน่ห์จันทร์ ผู้ทำจะต้องมีความชำนาญประณีตละเอียดอ่อนเนื่องด้วยเป็นขนมที่ใช้ออกงานเป็นหลัก ต้องรักษาลักษณะและสีของขนมไว้ตามแบบโบราณ
         

ขนมไทยประเภทอบและอื่นๆ
              เป็นขนมที่ต้องใช้การอบ อุปกรณ์หลักคือเตาอบอุณหภูมิที่ใช้ประมาณ200องศาเซลเซียส ขนมประเภทนี้จะมีกลิ่นที่หอมจากการอบ บางชนิดมีกลิ่นหอมของกะทิหรือผ่านการอบด้วยควันเทียนเช่นขนมเล็บมือนาน ขนมทับทิมกรอบเป็นต้น          
           แหล่งอ้างอิง http://xn--22c6bf6ag6r.net/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97/
แหล่งอ้างอิง: กระยาทิพย์ เรือนใจ.ปั้นแต่งขนมไทย.ต้นมธรรม สำนักพิมพ์.2537